|
สงสัยหนอ พระปัณฑิตาภิวงศ์![]() ถาม : การจงใจจำแนกอารมณ์ที่ปรากฏ ช่วยให้เกิดนามรูปปริจเฉทญาณได้หรือไม่ ?
การวิเคราะห์แจกแจงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่อาจทำให้เกิด นามรูปปริจเฉทญาณ ขึ้นได้เลย ต่อเมื่อได้เฝ้าดูปรากฏการณ์ของใจและกายในทันทีที่เกิดขึ้นเท่านั้น โยคีจึงจะสามารถแยกแยะนามและรูปได้เองโดยปราศจากการจงใจใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นแหละคือนามรูปปริจเฉทญาณที่แท้จริง
(“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
วิปัสสนาญาณที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสังเกตปัจจุบันอารมณ์เท่านั้น มิใช่ด้วยการใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์ เทียบเคียง หรือแจกแจงจาระไนสภาวธรรม เช่นว่า โลกิยจิตจำแนกได้ ๘๑ ประเภท, องค์ประกอบของจิต (เจตสิก) มี ๕๒ ชนิด หรือ รูปแบ่งเป็น ๒๘ จำพวก ฯลฯ ความรู้เช่นนั้นเป็นเพียงความจำจากการเล่าเรียน (สัญญา) ไม่ใช่ปัญญาจริง ๆ ที่เกิดขึ้นเองจากประสบการณ์ตรง
ลองคิดดูว่าโลกิยจิต ๘๑ ประเภท มีอะไรบ้าง และเกิดกับเราได้ทั้งหมดหรือไม่ ? ยกตัวอย่างเช่น มหัคคตาจิตย่อมเกิดกับผู้ทรงฌานเท่านั้น ส่วนกิริยาจิตแม้จะเป็นฝ่ายโลกิยะก็เกิดกับพระอรหันต์เท่านั้น แล้วเราจะประสบกับอารมณ์ที่ไม่เกิดกับเราได้อย่างไรเล่า ? นอกจากนี้ในรูป ๒๘ จำพวก ความเป็นหญิงมีในผู้หญิง ส่วนความเป็นชายก็มีในผู้ชาย เราไม่อาจประสบกับภาวรูปของอีกเพศได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การแจกแจงสภาวะที่เราไม่เคยประสบจะจัดเป็นปัญญาในการรู้แจ้งปรมัตถธรรมไปได้อย่างไร ? มิใช่ความรู้ด้วยสมมติบัญญัติเท่านั้นหรอกหรือ ?
หากตอบตามตรงก็ต้องบอกว่า “ใช่ นั่นเป็นเพียงความรู้ตามบัญญัติเท่านั้น” และแน่นอนว่า แค่ความจำได้หมายรู้หรือสัญญาจากการจดจำร่ำเรียนเช่นนั้น ย่อมไม่อาจทำให้เกิดนามรูปปริจเฉทญาณได้เลย ที่จริงแล้ว หากไม่ได้ระลึกรู้รูปนามก็ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาเสียด้วยซ้ำ
(“สัลเลขสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : แค่มีความซาบซึ้งเลื่อมใสในขณะฟังธรรม ก็บรรลุโสดาบันได้ จริงหรือ ?
ข้อความในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อาจก่อให้เกิดความสับสนได้ เนื่องจากพระสูตรไม่ได้ระบุไว้เลยว่า พระโกณฑัญญะ ได้เจริญวิปัสสนา พระบาลีกล่าวแต่เพียงว่า ท่านบรรลุโสดาบัน หรือที่เรียกว่า “ธรรมจักขุ” (เกิดดวงตาเห็นธรรม) ในขณะที่ฟังพระสูตรนี้อยู่หรือในทันทีที่พระธรรมเทศนาจบลง เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ไม่เห็นจะต้องสนใจใช่ไหมว่า ท่านโกณฑัญญะเจริญวิปัสสนาอย่างไร ? ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะเราจะละเลยประเด็นนี้ไปได้อย่างไรในเมื่อพระสูตรนี้ระบุไว้เองว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ คือสิ่งที่พึงทำให้เจริญ
ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา มีบทว่า “ทุกฺเข ญาณํ” เป็นต้น ซึ่งอธิบายว่า ความจริงเกี่ยวกับทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ คือ ทุกขสัจ และสมุทยสัจ เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้และพึงทำให้สิ้นไปด้วยการเจริญภาวนา นอกจากนี้ยังพบข้อความอื่น ๆ ที่ยืนยันว่า มรรคญาณจะเกิดขึ้นได้ด้วยความบริบูรณ์แห่งวิปัสสนาเท่านั้น หรือที่เรียกว่า “บุพพภาคมรรค” (วิปัสสนาญาณอันเป็นเบื้องต้นแห่งมรรคญาณ) พระบาลียังรับรองด้วยว่า วิปัสสนาญาณและมรรคญาณจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการกำหนดรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ หมวด คือ รูป เวทนา จิต และสภาวธรรมต่าง ๆ และมีข้อความที่สอดคล้องกันอีกว่า สัมมาสติซึ่งเป็นหนึ่งในองค์มรรคจะเกิดขึ้นได้จากการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น
ประเด็นต่าง ๆ ที่ยกมานี้ล้วนสนับสนุนว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการเจริญวิปัสสนา จึงสันนิษฐานได้ว่า ท่านโกณฑัญญะบรรลุโสดาปัตติมรรคได้ด้วยการเจริญวิปัสสนาขณะสดับพระธรรมเทศนาอยู่นั่นเอง
หากบุคคลสามารถสำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพียงเพราะได้ฟังและยินดีในธรรมนั้นแล้ว พระวัปปะและพระปัญจวัคคีย์ที่เหลือก็ไม่น่าจะต้องเพียรภาวนาต่ออีกสองสามวันให้ลำบากเลย ยิ่งไปกว่านั้น พระบรมศาสดาก็คงจะไม่ทรงสนับสนุนให้พวกท่านภาวนาต่อด้วย พระพุทธองค์ย่อมจะทรงแสดงพระสูตรนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าพระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดจะบรรลุโสดาบัน พึงใคร่ครวญให้ดีเถิดว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงทำเช่นนั้น แต่กลับทรงกระตุ้นให้เจริญภาวนาต่อไป โดยมิทรงแสดงพระธรรมเทศนาใด ๆ อีก ข้อนี้ชี้ชัดว่า พระบรมครูทรงสอน เนยยบุคคล (ผู้ที่ต้องปฏิบัติไปสักระยะจึงจะบรรลุธรรม) ให้เจริญภาวนาเพื่อเป็นพระโสดาบัน
เพราะฉะนั้น การอ้างว่า “การเจริญสมถะและวิปัสสนาไม่จำเป็นต่อการบรรลุโสดาบัน เพียงแต่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมคำสอนที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้ก็พอแล้ว” จึงไม่เป็นจริงแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นการบั่นทอนหรือบ่อนทำลายพระศาสนาอย่างยิ่ง หากผู้ใดหลงเชื่อคำสอนที่ถูกบิดเบือนนี้ ก็เท่ากับปิดหนทางสู่พระนิพพานของตนเลยทีเดียว
(“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : การพิจารณาไตรลักษณ์ขณะให้ทาน ช่วยให้เข้าใกล้มรรคผลยิ่งขึ้นได้หรือไม่ ?
มีบางท่านแนะว่า ขณะให้ทานควรระลึกรู้ไตรลักษณ์คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไร้ซึ่งตัวตน ทั้งในผู้ให้ ผู้รับ และวัตถุทานด้วย การให้นั้นจึงจะประกอบด้วยปัญญา (ญาณสัมปยุต) คำกล่าวนี้เกิดจากความเข้าใจผิดว่า สามารถยกทานขึ้นเป็นภาวนามยกุศลได้ (ความดีที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนา) ท่านที่แนะนำเช่นนี้คงจะตีความในคัมภีร์อรรถกถาอัฏฐสาลินีคลาดเคลื่อนไป อรรถกถานี้กล่าวถึงการน้อมเห็นตามจริงว่า “ย่อมเสื่อมไป ย่อมสิ้นไป” ซึ่งระลึกหลังจากได้ให้ทานแล้ว ไม่ใช่ในขณะให้หรือก่อนจะให้ ที่จริง พระอรรถกถาจารย์ท่านมิได้หมายว่าจะให้ทานนั้นประกอบด้วยปัญญา แต่มุ่งให้เพิ่มพูนบุญกุศลจากการบำเพ็ญทานขึ้นอีกขั้นด้วยวิปัสสนา เพราะถ้าหากจำเป็นจะต้องพิจารณาไตรลักษณ์เพื่อให้ทานนั้น ๆ ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ก็ต้องถือว่าทานในยุคที่ว่างจากพระพุทธศาสนาล้วนไม่ประกอบด้วยปัญญาทั้งสิ้น ความเห็นเช่นนี้จึงไม่สมเหตุสมผล
นอกจากนี้ ไม่มีพระบาลีบทใดเลยที่ระบุว่า เมื่อครั้งพระมหาโพธิสัตว์ทรงสั่งสมบารมีเพื่อพระโพธิญาณอยู่ พระองค์ทรงบริจาคทานพร้อมกับพิจารณาไตรลักษณ์ไปด้วย อีกทั้งพระบรมศาสดาก็มิเคยตรัสให้ทำเช่นนั้นเลย แต่ทรงสอนเรื่องการบำเพ็ญทานว่า ยิ่งผู้รับมีคุณธรรมสูง ทานนั้นก็จะยิ่งมีผลมาก การให้ทานจึงควรพิจารณาคุณธรรมของผู้รับเป็นสำคัญ เราจึงควรปฏิบัติตามที่พระองค์ทรงสอน เพราะถ้าผู้ให้และผู้รับเป็นเพียงกระแสรูปนามที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ก็จะไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้รับที่มีศีลและผู้รับที่ไม่มีศีล การให้ทานย่อมไม่ก่อให้เกิดความปีติยินดีและไม่มีอานิสงส์มากนัก
ประเด็นนี้อาจมีผู้โต้แย้งว่า “การให้ทานพร้อมทั้งพิจารณาไตรลักษณ์ไปด้วย น่าจะยิ่งช่วยให้ผู้นั้นเข้าใกล้มรรคผลมากขึ้นมิใช่หรือ ?” ตอบว่า ถ้าสามารถทำให้เกิดวิปัสสนาที่แท้จริงได้ ก็ย่อมช่วยได้แน่นอน อย่างไรก็ดี หากมุ่งเพื่อมรรคผลโดยตรงแล้ว ก็น่าจะเจริญวิปัสสนาจริง ๆ เสียเลย ดีกว่าที่จะหมดเปลืองไปกับการบริจาคทานพลางเจริญวิปัสสนาปลอม ๆ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการให้ทานมิใช่เพื่อเจริญวิปัสสนา แต่เพื่อสั่งสมบุญบารมีของผู้ให้ พระพุทธองค์จึงทรงแนะว่าการให้ทานแก่ผู้ที่ควรรับ เช่น หมู่สงฆ์ (สังฆทาน) จะมีผลมาก (“สงฺเฆ ทินฺนํ มหปฺผลํ”) ทั้งยังทรงสอนว่าขณะให้ทานควรวางใจให้ถูกต้อง และประกอบด้วยปัญญาคือเชื่อมั่นในกรรมและผลของกรรมเป็นสำคัญ มิใช่ให้พิจารณาไตรลักษณ์
ยกตัวอย่าง นางวิสาขา มหาอุบาสิกา นางบำเพ็ญทานโดยน้อมนึกถึงคุณธรรมของผู้รับ เช่น พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ และเมื่อระลึกเช่นนี้ นางก็เกิดปีติปราโมทย์ในกุศลกรรมของตน เป็นเหตุให้ อินทรีย์ (สภาวจิตที่เป็นใหญ่ในกิจ) พละ (กำลังแห่งจิต) และ โพชฌงค์ (องค์แห่งการตรัสรู้) แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ หากการให้ทานพลางระลึกถึงไตรลักษณ์ในผู้รับตามที่กล่าวอ้างมานั้นดีกว่าจริง ๆ นางก็ควรจะคิดถึงพระที่มรณภาพแล้วพร้อมน้อมนึกว่า “ท่านเสื่อมไป ท่านสิ้นไป” หรือหากว่านางไม่ทราบ พระบรมครูคงจะทรงสอนนางให้ทำเช่นนั้นแทนเป็นแน่
(“ปฏิจจสมุปบาท” โดย มหาสีสยาดอ)
|
Copyright 2005-2012 www.sati99.com All rights reserved.
![]() |