|
สงสัยหนอ พระปัณฑิตาภิวงศ์![]() ถาม : ความเจ็บปวดจากเสือกัดถูกระงับได้อย่างไร ?
เป็นที่น่าสงสัยว่า ความเจ็บปวดจากเสือกัดถูกระงับได้อย่างไร ? ในกรณีของ พระติสสเถระ ผู้ถึงอรหัตตผลหลังจากทุบขาจนหัก อรรถกถากล่าวว่า “ท่านระงับความเจ็บปวด แล้วใคร่ครวญความบริสุทธิ์แห่งศีลของตน ยังปีติและปราโมทย์ให้เจริญขึ้น ...” อรรถกถานี้ระบุชัดว่า ท่านข่มความเจ็บปวดก่อน แล้วจึงพิจารณาศีลของท่าน กรณีที่พระภิกษุถูกเสือกัดนี้ก็มาในอรรถกถาส่วนเดียวกัน ซึ่งอธิบายบทที่ว่า “ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย” (ทางเดียวที่จะเอาชนะความทุกข์กายและความทุกข์ใจ) จึงเป็นไปได้ว่าท่านใช้การเจริญสติปัฏฐานบรรเทาความเจ็บปวดจากเสือกัด
ในการปฏิบัติ โยคีอาจพบว่าความเจ็บปวดหรืออาการบาดเจ็บทั่ว ๆ ไปจะค่อย ๆ คลายไป เมื่อเขาใส่ใจกำหนดรู้อาการนั้น ๆ อยู่ การเฝ้าสังเกตเช่นนี้ช่วยให้โยคีข่มความเจ็บปวดลงได้ ทว่าความเจ็บปวดนั้นอาจกลับมาอีกหากสมาธิและวิปัสสนาญาณยังไม่แก่กล้าพอ วิธีระงับความเจ็บปวดเช่นนี้จัดว่าเป็น “วิกขัมภนะ” (การข่มไว้ได้ชั่วระยะหนึ่ง) หากวิปัสสนาสมาธิมีกำลังพอ ความเจ็บปวดก็อาจถูกกำจัดให้สิ้นไปได้ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงอาศัยวิปัสสนาขจัดอาการของโรคร้ายที่เสียดแทงพระวรกายในช่วงพรรษาสุดท้ายได้
อันที่จริงก็อาจเป็นไปได้ว่า ความเจ็บปวดของพระติสสะนั้นถูกข่มลงได้ด้วยการพิจารณาศีลของท่านเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดี กรณีเหล่านี้ถูกยกมาอ้างอิงในอรรถกถาเพื่อจะยืนยันว่า วิปัสสนาสามารถช่วยกำจัดความทุกข์กายได้ เพราะฉะนั้นจึงควรจะสรุปว่า ความเจ็บปวดจากเสือกัดนั้นถูกระงับไว้ได้ด้วย เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การสังเกตความรู้สึก)
(“ตุวฏกสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : เพียงการอ่านหรือการฟัง จะยังวิปัสสนาให้บริบูรณ์ได้หรือไม่ ?
หากผู้ใดไม่ได้เจริญภาวนาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจแล้ว ความเชื่อในพิธีกรรมและข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของผู้นั้นย่อมจัดว่าเป็น สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นสำคัญผิดในศีลพรต) ปัจจุบันมีผู้สอนว่าแค่การฟังหรือเล่าเรียนลักษณะต่าง ๆ ของนามรูปจนขึ้นใจก็สามารถบรรลุธรรมได้ คือหมายความว่า ไม่จำเป็นจะต้องเจริญวิปัสนากรรมฐานหรือรักษาศีลแต่อย่างใด ในกรณีเช่นนี้เราพึงไตร่ตรองเสียก่อนว่า ความเชื่อของท่านเหล่านั้นเจือไปด้วยสีลัพพตปรามาสหรือไม่ ตามทัศนะของอาตมา ความเชื่อนั้นยังตกอยู่ในข่ายของสีลัพพตปรามาสแน่ ๆ เพราะไม่สอดคล้องกับศีล สมาธิ หรือปัญญาเลยสักนิด
(“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : หากไม่ได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ด้วยฌานก่อน จะเจริญวิปัสสนาได้หรือไม่ ?
มีบางท่านสอนว่า การเจริญวิปัสสนาต้องอาศัยจิตที่บริสุทธิ์จากฌานสมาธิก่อน มิฉะนั้นวิปัสสนาจะไม่เป็นผล นั่นเป็นแนวคิดแบบสุดโต่ง เพราะที่จริงแล้วคัมภีร์วิสุทธิมรรคยืนยันว่า เพียงแค่ อุปจารสมาธิ [สมาธิในขณะที่จิตจวนจะตั้งมั่นแน่วแน่–ผู้แปล] ก็สามารถใช้เจริญวิปัสสนาจนสำเร็จอรหัตตผล (ความรู้แจ้งบริบูรณ์) เพราะทำจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากนิวรณ์เครื่องกั้นกุศลธรรมได้ พระบรมศาสดาตรัสไว้อย่างชัดเจนในพระสูตรต่าง ๆ อาทิ มหาสติปัฏฐานสูตร ว่าเราสามารถบรรลุอรหัตตผลหรือตรัสรู้ขั้นสูงสุดได้ด้วยอุปจารสมาธิที่เกิดจากการตามรู้อิริยาบถ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในอนุสสติฏฐานสูตร อังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลอาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยสมาธิที่เจริญขึ้นจากการระลึกถึงพระพุทธคุณ และอรรถกถาของสัมปชัญญบรรพก็รับรองว่า บุคคลสามารถยังปีติให้เกิดขึ้นได้ด้วยการระลึกถึงพระพุทธคุณหรือพระสังฆคุณ แล้วสังเกตความเกิดขึ้นและดับไปของปีตินั้น จนบรรลุอรหัตตผลได้
(“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
ถาม : สมาธิชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ) ใช้เจริญวิปัสสนาได้หรือไม่ ?
ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ธาตุมนสิการบรรพ กล่าวว่า การสังเกตธาตุทั้ง ๔ ที่ปรากฏชัดในปัจจุบันขณะ ทำให้เกิดอุปจารสมาธิซึ่งสกัดกั้นนิวรณ์ได้ ทั้งนี้ มหาฏีกาเสริมว่า สมาธิที่เกิดขึ้นนี้ยังจัดเป็นอุปจารสมาธิไม่ได้ทีเดียว เพราะไม่อาจเจริญต่อไปถึงขั้นอัปปนาสมาธิได้ อย่างไรก็ตาม สมาธินี้มีคุณสมบัติคล้ายกับอุปจารสมาธิ คือสามารถข่มนิวรณ์และทำให้จิตสงบได้เช่นกัน จึงอาจกล่าวโดยอนุโลมว่าเทียบเท่ากับอุปจารสมาธิ ด้วยสำนวนภาษาแบบ สทิสูปจาระ [คือสำนวนที่กล่าวถึงสิ่งที่คล้ายคลึงกัน–ผู้แปล] ในการเจริญวิปัสสนา สมาธิชนิดนี้ควรเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” (สมาธิที่ตั้งอยู่ตามปัจจุบันอารมณ์ในขณะนั้น ๆ) อาตมาจึงมักเรียกว่า “วิปัสสนาขณิกสมาธิ” ทว่า มีบางท่านไม่เห็นด้วยกับชื่อนี้ และแย้งว่าขณิกสมาธิไม่สามารถใช้เจริญวิปัสสนาได้ เพราะถ้าใช้ได้จริง นักเรียนนักศึกษาทั้งหลายก็คงจะบรรลุวิปัสสนาญาณกันหมดแล้ว
ในประเด็นนี้ อาตมาก็เห็นว่าอาจเป็นไปได้ ถ้าหากนักเรียนเหล่านั้นสามารถเจริญขณิกสมาธิจนมีกำลังพอที่จะระงับนิวรณ์ได้ โดยมีสติกำหนดรู้รูปนามที่ปรากฏในปัจจุบันขณะตามที่กล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร แต่ในความเป็นจริงก็เห็นได้ชัดว่า สมาธิในระดับที่เกิดจากการไตร่ตรอง ประเมิน หรือวิเคราะห์ข้อมูลความรู้ที่ได้จดจำร่ำเรียนมานั้น ไม่อาจช่วยระงับนิวรณ์ได้แต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นพวกเขาก็ไม่ได้สังเกตรูปนามที่ปรากฏอยู่เลยด้วยซ้ำ
ฉะนั้น ท่านที่โต้แย้งเช่นนี้คงจะขาดความรู้ความเข้าใจในวิธีเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง คัมภีร์วิสุทธิมรรคเรียกขณิกสมาธิว่า “ขณิกจิตเตกัคคตา” ซึ่งขยายความไว้ในมหาฎีกาว่า “ขณมตฺตฏฺฐิติโก สมาธิ” (สมาธิที่ตั้งอยู่ชั่วขณะ) เมื่อพิจารณาตามคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาต่าง ๆ ดังนี้แล้ว อาตมาจึงเรียกว่า ขณิกสมาธิ (สมาธิชั่วขณะ) หรืออาจอนุโลมว่าเป็นอุปจารสมาธิ (สมาธิที่จวนจะแน่วแน่) ด้วยก็ได้ หากเข้าใจข้ออธิบายต่าง ๆ ดังที่อาตมายกมานี้ ท่านเหล่านั้นคงจะคลายความสับสนได้
(“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
สมาธิที่ตั้งขึ้น ณ ขณะที่ระลึกรู้อารมณ์ เรียกว่า “ขณิกสมาธิ” เป็นสมาธิที่ต่อเนื่องไปในแต่ละขณะที่โยคีกำหนดรู้ หากปราศจากสมาธิชนิดนี้แล้ว วิปัสสนาจะไม่อาจเกิดและเจริญขึ้นได้เลย ดังนั้นจึงต้องพัฒนาสมาธิชนิดนี้จนแก่กล้าพอที่จะเป็นฐานให้วิปัสสนาญาณ สำหรับโยคีที่เจริญวิปัสสนาล้วน ๆ คือไม่ได้อาศัยสมถฌานเป็นบาทฐาน ขณิกสมาธินี่แหละที่จะพาเราสู่การบรรลุมรรคผล วิปัสสนาไม่ใช่การจดจ่ออยู่กับอารมณ์เดียว แต่เป็นการเฝ้าดูอารมณ์ต่างๆจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่ง ไม่ว่าอารมณ์ที่ปรากฏชัดในขณะนั้นจะเปลี่ยนแปรไปอย่างไรก็ตาม จิตก็ยังคงตั้งมั่นสังเกตอารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่ง เรื่อยไป โยคีผู้ภาวนาจนเห็นผลแล้ว ย่อมจะรู้ชัดในประเด็นนี้ได้ด้วยตนเอง
(“สัลเลขสูตร” โดย มหาสีสยาดอ)
|
Copyright 2005-2012 www.sati99.com All rights reserved.
![]() |