ขั้นตอนความตาย
ความตายนั้นเมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า มี ๓ ระดับ ดังนี้
๑. ตายเมื่อแก่ (ปัจฉิมวัย) อายุ ๕๐ ปีล่วงแล้ว
๒. ตายก่อนแก่ (มัชฌิมวัย) อายุ ๒๕-๕๐ ปี
๓. ตายโดยไม่มีโอกาสจะได้รู้จักคำว่าแก่ (ปฐมวัย) อายุแรกเกิด - ๒๕ ปี หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆตามศัพท์ที่อาตมาคิดเองว่า...
๑. ตายตามคิว (ตายเมื่อแก่)
๒. ตายแซงคิว (ตายก่อนแก่)
๓. ตายลัดคิว (ตายโดยไม่มีโอกาสจะรู้จักคำว่าแก่)
ได้อะไรในงานศพ
ปกติงานศพถือว่าเป็นงานเสีย...นับแต่เสียชีวิต เสียใจ เสียเวลา เสียทรัพย์ คิดๆดูเหมือนมีแต่เสียไม่มีได้ แต่วิสัยบัณฑิตชน พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระให้เกิดสาระ ทำสิ่งที่เป็นโทษให้กลายเป็นคุณ ทำสิ่งที่ปราศจากประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้นแม้ซากศพจะหาค่ามิได้ในแง่ของเนื้อหนัง ดังคำที่ว่า
อันเป็ดไก่ควายวัวเนื้อตัวมันมีค่า
ถึงคราวล้มตายก็ขายได้ราคา
เป็นสินค้ามีคนต้องการ
แต่คนเราตายกายเน่าเหม็น
มองไม่เห็นเป็นแก่นสาร
ยามสดชื่นอยู่ก็รักกัน
คนนี้ของฉันคนนั้นของแก
แต่พอตายแหง๋แก๋ก็ไม่ใช่ของแกของฉันฯ
เมื่อเป็นเช่นนี้ประโยชน์หรือวิตามินของงานศพอยู่ตรงไหน? เบื้องต้นจะได้สกัดเอาวิตามินของการมางานศพ ให้ท่านทั้งหลายได้สดับศึกษาสัก ๕ ประการ ซึ่งเป็นการถอดความจากพระคาถาในติโรกุฑฑสูตร ซึ่งพระเจ้าพระสงฆ์นำมาอนุโมทนาหลังจาก ยถาสัพพีฯ ว่า โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต. เป็นอาทิ แปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ ดังนี้
๑. ได้บอกความเป็นญาติ
- ทั้งญาติโดยสายโลหิตและญาติธรรม
๒. ได้ประกาศเกียรติคุณ
- ทั้งของผู้ตายและของเจ้าภาพ
๓. ได้สนับสนุนคนดี
- ถวายกำลังแก่สมณะพระสงฆ์ผู้ดำรงพระศาสนา
๔. ได้แสดงน้ำใจไมตรีต่อเจ้าภาพ
- เห็นใจในโอกาสประสบพบกับความสูญเสีย
๕. ได้ซึมซาบในสัจจธรรม
- เข้าใจในกฎธรรมชาติอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ธรรมะจากผี – ของดีจากพระ
ว่าถึงประโยชน์ของการมางานศพแล้ว คราวนี้จะได้ว่าถึงประโยชน์ของความตายบ้าง อันความตายหากค้นให้พบหาให้เจอ จะพบว่าในความตายนั้นมีสาระแก่นสารที่น่าศึกษามากมายหลายสถาน แต่เพื่อให้เหมาะแก่เวลาจักนำมากล่าวโดยย่อๆ สัก ๓ ประการ คือ
๑. ทำให้เห็นความดีของผู้ตายเด่นชัดขึ้น
๒. ทำให้ญาติมิตรพี่น้องปรองดองสามัคคีกันกว่าแต่ก่อน
๓. ก่อให้เกิดอัปมาทธรรม ความไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต
ประการที่ ๑ ช่วยให้เห็นความดีของผู้ตายเด่นชัดขึ้น ข้อนี้อุปมาเหมือนต้นไม้ใหญ่ ที่เคยให้ร่มเงาและที่อยู่อาศัยแก่หมู่วิหคแก่นกกาตลอดถึงมนุษย์ เมื่อธรรมชาตินั้นยังอยู่ก็มิสู้ได้คำนึงถึงคุณค่า ต่อเมื่อใดถูกพายุพัดโค่นหรือถูกตัดไปเสียแล้วยามนั้นคุณค่าของโพธิ์ไทรจะผุดงอกในความรู้สึกกว่าปกติ
อีกอย่างคล้ายเวลาหิวกระหายใคร่จะดื่มน้ำ มีภาชนะเช่นแก้วหรือขันใสให้ดื่ม จะทานอาหารมีช้อนมีจานใส่ให้บริโภค ยามที่แก้ว, ขัน, ช้อน, จาน ยังอยู่ก็มิสู้จะเห็นความสำคัญนักปล่อยเกะกะทิ้งขว้าง ต่อเมื่อใดจะทานอาหาร ช้อนจานไม่มีจะดื่มน้ำแก้วก็แตกขันก็หาย นั่นแหละคุณค่าของสิ่งต่างๆเหล่านี้จะผุดงอกในจิตสำนึกมากกว่าเดิม แม้ชีวิตคนก็เช่นเดียวกัน รวมความว่าอะไรก็ตามที่พลัดพรากจากไปแล้ว มิสามารถนำกลับคืนมาได้สิ่งนั้นล้วนมีคุณค่าเป็นเพิ่มพูน
ประการที่ ๒ ช่วยให้ญาติพี่น้องปรองดองกันมากขึ้น ก็ด้วยอำนาจความรัก ความอาลัย ความเห็นใจ ในโอกาสที่แต่ละฝ่ายประสบพบกับความสูญเสีย
ประการที่ ๓ ก่อให้เกิดอัปมาทธรรม ความไม่ประมาท ก็เพราะความตายจะช่วยกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดมุมมองสอดส่องชีวิตตน จนเกิดเป็นปัญญาหรือแววจิตคิดเห็นความไม่เที่ยงแท้แปรเปลี่ยนของชีวิต จนเกิดการยอมรับในกฎแห่งธรรมชาติ และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะต้องประสบคือมัจจุราช หรือความตาย