ข้อควรจำเพิ่มเติมสองประการ
ผู้ปฏิบัติธรรมควรจะรายงานความคิดที่กำหนดรู้ทั้งหมดตามความเป็นจริงและความรู้สึก (เวทนา) ทั้งหลายที่ปรากฏเด่นชัดก็ควรที่จะกำหนดรู้และรายงานระหว่างการสอบอารมณ์เช่นกัน (นอกจากวิปัสสนาจารย์จะแนะนำเป็นอย่างอื่น)
คำอธิบายเพิ่มเติม
ธรรมารมณ์ใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้น เช่น ชอบ ไม่ขอบ วิตก สงสัย ดีใจ สงบ ฯลฯ ควรที่จะกำหนดรู้ตามที่เป็นจริง (กล่าวคือธรรมารมณ์เหล่านั้นดำเนินต่อไป รุนแรงขึ้น หรือหมดสิ้นลงแล้วติดตามมาด้วยอะไร และปรากฏการณ์ที่ตามมานั้นดำเนินไปอย่างไร เช่นนี้เรื่อยไป) สมมุติว่าความชอบเกิดขึ้น เมื่อกำหนดรู้แล้วเกิดอะไรขึ้น ความชอบมักจะติดตามมาด้วยความคิด ความง่วง ความรู้สึกหนักตื้ออยู่ในใจ หรือสัมปชัญญะที่อ่อนกำลัง เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้สภาวะทางจิตเหล่านี้แล้ว ความวอกแวกหรือว้าวุ่นใจมักจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจนำมาซึ่งความลังเลสงสัยได้ง่าย ๆ ในกรณีเช่นนี้ให้ผู้ปฏิบัติสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อกำหนดความสงสัย เมื่อใดก็ตามที่ธรรมารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นให้กำหนดรู้เสมอ ๆ
รายงานอะไร
ก. ผู้ปฏิบัติควรที่จะสามารถบรรยายลักษณะที่แท้จริงหรือสภาวลักษณะให้ชัดเจนและถูกตรงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ในการสอบอารมณ์
ข. ในทำนองเดียวกันเมื่อผู้ปฏิบัติเดินจงกรม ผู้ปฏิบัติควรที่จะพยายามกำหนดรู้ให้ทันปัจจุบันของการยกเท้าอย่างต่อเนื่องแนบแน่นตั้งแต่ต้นจนจบ และการกำหนดที่ถี่ถ้วนและทันปัจจุบันเช่นนี้ควรจะใช้เมื่อเท้าและขาเคลื่อนไปข้างหน้าและเคลื่อนต่ำลงหรือเหยียบลงบนพื้นด้วย
ผู้ปฏิบัติควรที่จะอธิบายลักษณะที่แท้จริงหรือสภาวลักษณะของการก้าวเท้าทั้งสามช่วง ทั้งการยก ย่าง และเหยียบ นอกเสียจากวิปัสสนาจารย์จะแนะนำให้เป็นอย่างอื่น
คำอธิบายเพิ่มเติม
ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานควรที่จะเข้าใจลักษณะทั้งสามของสภาพธรรมทางกายและจิตที่จะกล่าวต่อไปนี้
สภาวะลักษณะ
สภาวะลักษณะหมายถึงลักษณะเฉพาะของปรากฏการณ์หรือสภาพธรรมทางกายและทางจิต เช่น ปฐวีธาตุ (ความแข็ง อ่อน) เตโชธาตุ (ความร้อน เย็น หรืออุณหภูมิ) อาโปธาตุ (ความเกาะกุมและลื่นไหล) และวาโยธาตุ (ความเคลื่อนไหว) ลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมทางจิตได้แก่การรับรู้ รวมถึงผัสสะหรือสภาวะของการกระทบอารมณ์และเวทนาหรือความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉย นอกจากนี้ยังมีสภาพธรรมทางกายและจิตอื่น ๆ อีกมากมาย
สังขตะลักษณะ
สังขตะลักษณะเป็นลักษณะประกอบหรือปรุงแต่งสภาพธรรมทางกายทางจิตทั้งปวง สภาพธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้นทั้งหลาย มีสามลักษณะคือ อุปปาทะ คือความเกิดหรือปรากฏขึ้น ฐีติ คือความตั้งอยู่ และภังคะ คือความดับสลายของปรากฏการณ์ ลักษณะทั้งสามนี้เองคือความหมายของสังขตะลักษณะ